ถ้าช่วงนี้รู้สึกเบื่อๆกับงานประจำ คงไม่มีจังหวะไหนจะเหมาะกับการเริ่มทำอะไรใหม่ๆมากไปกว่าตอนนี้แล้วล่ะ เราก็เลยอยากจะเชิญชวนเพื่อนๆมา สร้างแบรนด์ตัวเอง online ค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อยไป ด้วยความขยันและมุ่งมั่น วันข้างหน้ามันอาจจะเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยก็ได้
บางคนอาจจะแอนตี้ว่าทำไมเราต้องพยายามเป็น Someone ขนาดนั้น มันน่ารำคาญจะตายไป แต่เราก็อยากจะแนะนำว่าเราไม่ต้องเน้นไปทางอยากดังก็ได้ แต่แค่ต้องทำตัวเองให้มีจุดขายหรือเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนเรซูเม่ ผู้เชี่ยวชาญการใช้โปรแกรมออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาญี่ปุ่น ตามแต่ที่คุณถนัด เริ่มได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ตามนี้เลย
1.สรุปว่าเราคือใคร อยากจะ สร้างแบรนด์ตัวเอง online แบบไหน
จะสร้างแบรนด์ก็ต้องเริ่มคิดจากจุดประสงค์ก่อน ว่าทำแบรนด์ตัวเองเพื่ออะไร ขายสินค้าเป็น SME เป็นที่ปรึกษาขายเซอร์วิส ทำแบรนด์เพื่อใช้เป็น portfolio ในการนำเสนองานและทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก หรือจะทำเว็บบล็อกสร้างรายได้จาก Affiliate link และโฆษณาต่างๆ
ส่วน Freelance ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ คนทำเซอร์วิส ต้องพยายามทำความเข้าใจให้มากว่าจะเน้นไปที่งานด้านไหน เพราะพวกเราดันมีความชอบหลายอย่าง อยากทำงานหลากหลาย จนไม่มั่นใจว่าจริงๆแล้วเราถนัดเรื่องไหนกันแน่ การที่รู้สึกอยากตื่นมาทำในทุกๆเช้าอย่างมีความหมาย อาจจะใช้วิธีง่ายๆอย่างเช่น การลิสต์ความถนัดของตัวเองออกมาเป็นข้อๆ รวมถึงงานที่อยากจะทำเอาไว้
แล้วก็ลองคิดดูว่างานไหนจะเป็นไปได้บ้าง หรือต่อยอดเพิ่มเติมให้ความสามารถของเรามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้บ้าง ถ้าจะให้ดีต้องเป็นงานเฉพาะทางเจาะจงไปเลย เช่น สอนเขียนเรซูเม่ให้ได้งานบริษัทอินเตอร์ ให้บริการสอนทำเว็บไซท์ถึงบ้าน เป็นที่ปรึกษาด้านการทำขนม
เมื่อสรุปได้แล้วว่าจุดประสงค์คืออะไร อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านไหนก็มาถึงขั้นต่อไปเลยค่ะ
2.คิดชื่อแบรนด์
โดยเอาชื่อของเราเอง หรือชื่อที่เหมาะกับธุรกิจที่กำลังนำเสนอ มาผสมรวมกันก็ได้ ซึ่งต้องสามารถเอาชื่อนี้ไปจดโดเมนเนมได้ด้วย อาจจะทำเป็นชื่อบวกกับเซอร์วิส เช่น ชื่อ โอปอล์ อยากทำเซอร์วิสดูดวงออนไลน์ เค้าก็เลยตั้งชื่อเว็บว่า opalprophecy.com ซึ่งอาจจะต้องลิสต์เอาไว้หลายๆชื่อหน่อยเพราะบางทีชื่อโดเมนนั้นก็อาจจะมีคนเอาไปใช้แล้วก็ได้
ชื่อไม่ควรยาวเกินไป ควรมีไม่เกิน 3-4 พยางค์เพื่อให้ง่ายต่อการจำ
ในกรณีที่เราอยากจะให้ชื่อนี้สามารถนำไปใช้ในรูปแบบอื่นๆได้ ก็ต้องตั้งชื่อแบรนด์อย่าให้มันจำกัดเกินไป ลองนึกชื่อที่สามารถต่อยอดหรือพัฒนาได้ เช่น
จะเห็นว่ามันไม่ได้ระบุว่าคืออะไร เป็นแค่ชื่อเท่านั้นที่เฉพาะตัว ไม่ซ้ำใครแค่นั้นเอง
3.สร้างภาพลักษณ์หรือ Branding Identity
ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ภาพที่นำเสนอเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เยอะ ไม่มึนจนเกินไปเพราะเราได้ออกแบบโทนและขอบเขตที่สามารถใช้ได้เอาไว้แล้ว ซึ่งตัวภาพลักษณ์นั้นก็จะกำหนดจากตัวเนื้องานที่เราอยากจะสื่อ และกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ เช่น เซอร์วิสที่เราทำเกี่ยวกับงานบัญชีมีเนื้อหาที่จริงจัง ภาพลักษณ์ แบรนด์ดิ้งที่แสดงออกมาก็ต้องเป็นทางการมากๆ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ถ้างานเราเน้นไปที่ความสนุกสดใส สีสันที่นำมาใช้ก็ต้องมีความสดใสตามไปด้วย
- โลโก้ พยายามทำให้มันเรียบง่ายเข้าไว้ ตัดทอนส่วนที่ไม่สำคัญออก และควรใช้สีไม่เกินสามสี เพื่อให้โลโก้สามารถนำไปใช้ต่อในงานรูปแบบอื่นๆได้ง่ายขึ้น
- โทนสี เลือกให้เข้ากับสไตล์งาน เช่น งานแม่และเด็ก ก็ใช้สีพาสเทลอ่อนๆ ให้ความละมุน งานอาหารก็ใช้สีส้ม แดง เพื่อให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมรู้สึกอยากทานอาหารมากขึ้น เรื่องของโทนสียังมีอีกมาก ไปตามดูตัวอย่างได้ที่นี่เลยค่ะ
- กราฟฟิก ถ้าเป็นไปได้ในส่วนของกราฟฟิกที่เราจะนำมาใช้เป็น Layout ของภาพ Feature Image ของ Blog Post หรือจะทำเป็นหน้าปกคลิป Youtube ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานของเรามีเอกลักษณ์ ให้คนจดจำเราได้ง่ายขึ้นด้วยนะคะ
- ภาพประกอบ ควรใช้ภาพที่เป็นโทนเดียวกัน เช่น จะเป็นแบบภาพจริงคมชัด หรือจะเป็นสีขรึมๆแบบฮิปสเตอร์ก็ลองเลือกใช้ดูค่ะ
- ฟ้อนท์ ควรใช้ฟ้อนท์ประกอบไม่เกิน 2 ฟ้อนท์ คือ มีส่วนของ Header และ Paragraph ถ้าเป็นเว็บไซท์ภาษาอังกฤษจะมีฟ้อนท์ให้เลือกเยอะมาก แต่ถ้าเว็บเป็นภาษาไทย ฟ้อนท์มาตรฐานจะมีเพียงแค่ 4 ฟ้อนท์เท่านั้น ถ้าอยากได้เพิ่มต้องใช้ปลั๊กอินช่วยค่ะ
4.คิดสโลแกนสั้นๆที่กระชับและได้ใจความ
สโลแกนเป็นสิ่งสำคัญเทียบเท่ากับตัวโลโก้เลย เพราะมันคือส่วนขยายของแบรนด์ว่าเราคือใคร ว่าเรากำลังเสนอขายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนดู ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นภาพจำในหัวของลูกค้า และทำให้เค้าเข้าใจถึงสิ่งที่เราสื่อสารได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
เช่น มีปัญหามาหาเรา เรานำเอาจินตนาการมาแต่งแต้มบนเสื้อผ้า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เอาสโลแกนของเราไว้ที่หน้าแรกตรง Banner หลักของเว็บไซท์เลย เพื่อให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมเข้าใจได้ในทันทีว่าเราจะช่วยอะไรเค้าได้บ้าง
5.สร้างเรื่องราวของตัวคุณ
เขียนอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร เรียนที่ไหน ผ่านการทำงานที่ไหนมาบ้าง ทำไมจึงเชี่ยวชาญในเรื่องที่เอามานำเสนอ และบอกเล่าถึงเหตุผลว่าคุณทำแบรนด์นี้เพื่ออะไร เพื่อใคร ด้วยการอธิบายถึงสิ่งที่ลูกค้าและผู้ติดตามจะได้รับประโยชน์ เช่น อยากให้คนไทยมีความสุข อยากให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยการสร้างธุรกิจของตัวเอง เป็นต้น เพื่อให้แบรนด์ของเรานั้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช่ในระดับที่ลึกขึ้นได้ และช่วยทำให้แบรนด์คุณแตกต่างจากคนอื่นๆ เมื่อได้เรื่องราวที่เพียงพอแล้วก็นำมาเรียบเรียงใหม่ให้คนนอกเข้าใจได้ง่ายขึ้น
6.สร้างเว็บไซต์
โดยที่หน้าแรก หรือ Landing Page มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแบรนด์ของเรามากที่สุดและต้องทำให้เข้าใจง่าย ตรงประเด็น มีภาพประกอบอธิบาย และมีข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการจากเราได้ ที่สำคัญคือต้องใส่ความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยลงไป เลือกโทนสีและสไตล์ให้มีความโปรเฟสชั่นนอล ไม่มากไม่น้อยเกินไปอย่างที่ได้บอกเอาไว้แล้ว ที่ต้องสร้างเว็บไซท์ก็เพื่อให้แพลทฟอร์มออนไลน์ของเรามีที่อยู่ชัดเจน ไม่ต้องห่วงกับความขึ้นลงและนโยบายต่างๆของโซเชี่ยลที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
7.สร้าง content อย่างสม่ำเสมอ
ตัวคอนเท้นท์จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรารู้ลึกรู้จริงในเรื่องนั้นๆอย่างไรบ้าง ยิ่งเรามีคอนเท้นท์เยอะก็ยิ่งมีโอกาสในการเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า และต้องมีความสม่ำเสมอ เพื่อให้คนที่ติดตามงานมีความผูกพันกับเราและไม่ขาดช่วง เมื่อพวกเค้าเห็นว่าเราผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องก็จะมีความเชื่อใจกันเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงยอดขายในอนาคต
8.เลือกใช้โซเชียลให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของเรา
นอกจากตัวเว็บไซท์หลัก เราก็ต้องมีช่องทางรองคือโซเชี่ยลต่างๆที่เอาไว้ใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งเราจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ว่าจะเน้นไปที่การสร้าง Follower ช่องทางไหน เลือกมาเพียงแค่ 1-2 ช่องทางก็พอ เพราะจะได้ไม่ทำให้งานเราโหลดจนเกินไป แล้วก็เลือกว่าวิธีไหนจะสื่อสารได้ตรงใจคนฟังมากที่สุด เช่น การใช้แต่รูปภาพอธิบายเนื้อหา การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสืออย่างการเขียนบล็อก หรือเน้นไปทางการพูดหน้ากล้อง ทำเป็นวิดีโอคลิป แล้วเอาโซเชี่ยลพวกนั้นมาเชื่อมต่อกับเว็บไซท์ ซึ่งเราต้องเลือกจากกลุ่มคนที่จะมาเป็นลูกค้าของเราว่าเค้ามีพฤติกรรมแบบไหนกันบ้าง และชอบไปปรากฏตัวอยู่บนโซเชี่ยลไหน เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือยูทูป
9.เป็นตัวของตัวเองบนโซเชียลอย่างมีขอบเขต
ปกติแล้วเป็นคนสไตล์ไหน ลักษณะการพูดเป็นอย่างไร ชอบทำงานอะไร ก็ต้องพยายามทำตามเดิมไว้ให้ดูธรรมชาติ แต่อาจจะต้อง Keep Look ปรับภาพลักษณ์ให้ตัวเองนิดนึง เช่น คำพูดที่ใช้บนโซเชี่ยลมีเดีย อย่าให้มันหยาบคายหรือล่อแหลมเกินไป เอาแบบซอฟท์ๆพอประมาณก็พอต้องคิดก่อนจะโพสต์อะไรลงไปทุกครั้ง
ภาพโพรไฟล์ที่ใช้ก็ไม่ต้องถึงขั้นใส่สูท แต่ขอให้ดูมีสไตล์แล้วก็ยังคงความเป็นตัวเองเอาไว้ ไม่ต้องเยอะจนเพื่อนทักว่า แกโอเครึเปล่า คอนเท้นที่แชร์ก็ให้แสดงออกถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ตัวเองที่เราพยายามทำและเกี่ยวข้องกับพื้นเพเรื่องราวเดิมของเราด้วย
10.หา Mentor ช่วยสอนงาน
คนสอนงานของเราอาจจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจสายเดียวกับที่เราทำ หรืออาจจะเป็นคนที่คอยแนะนำข้อมูลต่างๆให้ที่อยู่บนบล็อก และยูทูปก็ได้ ซึ่งคนเหล่านั้นและจะช่วยให้เราทำตามฝันได้สำเร็จ และมีแรงที่จะพยายามต่อไปเพราะเค้าคือคนที่ช่วยบอกทางให้เรา ถ้าเป็นไปได้อยากให้หาคนที่สามารถคุยกันแบบตัวต่อตัวได้ ถามคำถามที่ข้องใจได้โดยตรงและสามารถให้ข้อมูลจริงได้แบบไม่มีกั๊ก
สรุป
การจะ สร้างแบรนด์ตัวเอง online นั้นต้องเริ่มจากการเข้าใจในตัวตนของเราก่อน ว่าอยากจะทำงานอะไร ลูกค้าเป็นใครจากนั้นก็ค่อยๆสรุปความแล้วนำมาประมวลผลใหม่ให้เกิดเป็นแบรนด์ของเราเอง ถ้าทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้ก็จะสามารถสร้างตัวแบรนด์ออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบและมีทิศทางซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและทำให้ตัวแบรนด์มีประสิทธิภาพในการสื่อสารกับคนนอกได้มากยิ่งขึ้น และได้เป็น Online Entrepreneur อย่างแท้จริงอีกด้วยนะ
สนใจสร้างแบรนด์ตัวเองเชิญทางนี้เลยค่ะ